วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ยูนิคอร์น


ยูนิคอร์น




ยูนิคอร์น (Unicorn) เป็นสัตว์ในตำนาน เชื่อว่าพบได้ตามป่าทางตอนเหนือของยุโรป ตัวโตเต็มที่มีลักษณะเป็นม้าสีขาวบริสุทธิ์ สง่างาม มีเขาหนึ่งเขาที่กลางหน้าผาก (โดยมากเขาจะเป็นเกลียวด้วย) ลูกยูนิคอร์นแรกเกิดมีขนสีทอง และจะเปลี่ยนเป็นสีเงินก่อนที่จะโตเต็มวัย เขา เลือด และขนของยูนิคอร์นมีคุณสมบัติทางเวทมนตร์สูง
โดยทั่วไปยูนิคอร์นจะหลีกเลี่ยงการข้องแวะกับมนุษย์ และจะยอมให้แม่มดเข้าใกล้มากกว่าพ่อมดนอกจากนั้น ยูนิคอร์นยังวิ่งได้เร็วมาก จึงยากที่จะจับตัวได้ ในโลกตะวันตก ยูนิคอร์นถือเป็นสัตว์ที่มีความดุร้ายและรักความสันโดษ เรื่องเล่าของยุโรประบุว่าการจับยูนิคอร์นนั้นต้องใช้สาวพรหมจรรย์เป็นผู้จับยูนิคอร์น ซึ่งยูนิคอร์นจะลืมสัญชาตญาณป่าเถื่อนและเชื่องราวกับเป็นม้าธรรมดา
การกล่าวถึงยูนิคอร์นในโลกตะวันตก มีขึ้นครั้งแรกในหนังสือของอินเดีย ซึ่งเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก เมื่อประมาณ พ.ศ. 14 บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า "ในประเทศอินเดีย มีลาป่าชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่เท่า ๆ กับม้า ลำตัวของพวกมันมีสีขาว ศีรษะมีสีแดงเข้ม และมีดวงตาสีน้ำเงิน พวกมันมีเขาอยู่บนหน้าผากเขาหนึ่ง ซึ่งมีความยาวประมาณครึ่งเมตร" กล่าวกันว่า ยูนิคอร์นเป็นสัตว์ผสมระหว่างแรด ละมั่งหิมาลัย และลาป่า เขาของมันมีความแหลมคมมาก โดยมีพื้นสีขาวตรงกลางสีดำ และตรงยอดเป็นสีแดงเลือดหมู

ยูนิคอร์นกับการแปลความหมายทางด้านสัญลักษณ์

ยูนิคอร์นได้รับการแปลความหมายแทนสิ่งต่าง ๆ มากมาย เขาที่อยู่บนหัวถือเป็นสัญลักษณ์ของ พลัง อำนาจ ความเข้มแข็ง และความเป็นลูกผู้ชาย ในบางตำนานยูนิคอร์นเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ สะอาด บางตำนานเชื่อว่ายูนิคอร์นมีสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยง ระหว่างเพศหญิงและเพศชาย นั่นคือ เขาของมันแทนเพศชาย และลำตัวแทนเพศหญิง ชื่อภาษาจีนของยูนิคอร์น คือ ki-lin ซึ่งแปลว่า ผู้ชาย-ผู้หญิง





เป็นอย่างไรกันบ้างครับ  สำหรับตำนานของสัตว์ในตำนานผมว่าผมชอบอ่านนะ  เพราะนอกจากจะเป็นเกร็ดความรู้แล้วเวลาอ่านยังได้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความฝันเลยครับอิอิ

อ้างอิง:http://th.wikipedia.org

วารีกุญชร


วารีกุญชร



วารีกุญชร เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีรูปร่างเป็นช้างแต่มีเท้าเพียง 2 เท้าหน้า ลำตัวและหางเป็นปลาทั้งหมด หรือมีเท้าครบทั้ง 4 เท้า แต่มีหางเป็นปลา(วารีกุญชรที่มี 4 เท้า บางแห่งเรียกกุญชรวารี) อาศัยอยู่ในทะเลสีทันดร สามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี ประวัติของวารีกุญชรไม่มีที่มาอย่างแน่ชัด จิตรกรรมฝาผนังของวารีกุญชรมักเขียนบนฝาผนังของโบสถ์ตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดช่องนนทรี หรือวัดคงคาราม เป็นต้น 







การปรากฏเป็นข่าว

เรื่องราวของช้างน้ำ หรือ วารีกุญชร ได้ตกเป็นข่าวครึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์ของไทยครั้งแรก เมื่อกลางปี พ.ศ. 2539 หลังจากการตกเป็นข่าวของมักกะลีผล หรือ นารีผล ว่ามีผู้ได้ซากของช้างน้ำมาจากชาวกะเหรี่ยงที่ป่าชายแดนไทย-พม่า โดยซากของช้างน้ำนี้ เป็นสิ่งที่มีลักษณะคล้ายช้าง แต่มีขนาดเล็กจิ๋วจนสามารถวางบนฝ่ามือได้ เมื่อนำไปเอ็กซ์เรย์แล้ว พบว่าภายในมีโครงกระดูกต่าง ๆ เหมือนช้างจริงไม่มีผิด ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้มีหลายบุคคลออกมายืนยันว่า ช้างน้ำเป็นสัตว์ที่มีอยู่จริง เช่น พระภิกษุชาวไทยรูปหนึ่งอ้างว่าขณะที่ไปธุดงค์ปักกลดในป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในคืนก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ได้เจอกับสัตว์ขนาดเล็กฝูงหนึ่งกำลังเล่นน้ำอยู่ เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ พบว่าเป็นช้างขนาดเล็ก ขนาดไม่เกินกล่องไม้ขีด โดยเป็นสัตว์ในตำนานของชาวกะเหรี่ยง ที่เชื่อว่า ช้างน้ำเป็นสัตว์วิเศษที่สัตว์ใหญ่ยังหวาดกลัว หากผู้ใดได้ครอบครองซากช้างน้ำแล้ว เมื่อเข้าไปในป่าแล้วจะปลอดภัย สัตว์ป่าดุร้ายจะไม่มีมาคุกคาม
จนกระทั่งในต้นปี พ.ศ. 2552 ช้างน้ำก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากได้เปิดเผยว่ามีทหารกะเหรี่ยงพุทธนำซากช้างน้ำมาขาย โดยเชื่อว่าหากนำมาขายที่ฝั่งไทยแล้ว จะมีราคาสูงถึง 3-5 ล้านบาท ผู้ที่ซื้อส่วนใหญ่ซื้อมาเก็บไว้เป็นสิริมงคล รวมทั้งได้มีพระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่งในฝั่งพม่า ตรงข้าม อำเภอแม่สอด อ้างว่าได้มีชาวบ้านนำช้างน้ำมามอบให้ 1 เชือก ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตได้เพียงไม่กี่วัน โดยชาวบ้านคนดังกล่าวไปพบช้างน้ำที่บริเวณหนองน้ำในหมู่บ้านโกเซนา จังหวัดผะอัง ในรัฐกะเหรี่ยง ขณะไปหาอาหารและปลาในป่าลึกในเมืองและได้พบช้างน้ำที่ริมหนองน้ำจึงเก็บมาบ้านและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาชาวบ้านคนดังกล่าวได้มาพบตนเองขณะออกธุดงค์ในป่าลึกจึงได้นำมามอบให้เพื่อเป็นสิริมงคล เพราะช้างน้ำถือว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่พบแห่งเดียวในโลก คือที่ รัฐกะเหรี่ยง และพระภิกษุรูปนี้ยังได้ยืนยันว่า ช้างน้ำมีจริงเพราะตนเองเคยพบช้างน้ำมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือก่อนปี พ.ศ. 2550 โดยพบเป็นซากขายที่ชายแดนจังหวัดเมียวดี[3]
อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกันนี้ นายวราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้กล่าวว่า ถึงกรณีชาวบ้าน ตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก พบสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายช้างขนาดเล็กว่า แต่เมื่อพิจารณาดูภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ พบว่าโครงร่างโดยรวมมีลักษณะเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกัดแทะที่เรียกว่า โรเดนท์ เช่น หนู กระรอก หรือบีเวอร์ โดยเฉพาะส่วนหัว บริเวณกรามล่าง ใต้งา จะเห็นชัดเจนเลยว่าฟันมีลักษณะเป็นซี่ มีฟันหน้าที่ยื่นยาวออกไป รวมถึงโครงกระดูกส่วนอื่นนั้นก็มีลักษณะแตกต่างจากของช้างโดยสิ้นเชิง คาดว่าน่าจะเป็นซากสัตว์จำพวกหนูแล้วไปต่อเติมงวงและเสียบงาเข้าไปภายหลัง ส่วน รองศาสตราจารย์สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาจเป็นสัตว์จำพวกหนูผี เนื่องจากตรงที่ฟันมีลักษณะเป็นซี่แหลมยื่นออกมา และที่บริเวณขาและเท้ามีลักษณะยาว เห็นนิ้วเท้าเป็นซี่ 4-5 นิ้ว และมีเล็บ
อ้างอิง:http://th.wikipedia.org

ช้างเอราวัณ


ช้างเอราวัณ




     ช้างเอราวัณ (อังกฤษErawan : Airavata) ในเรื่องรามายณะ และ ความเชื่อของศาสนาฮินดูกล่าวถึงพระอินทร์มีร่างสีเขียว มีพาหนะเป็นช้าง 3 เชือก เชือกหนึ่งพระศิวะเป็นผู้ประทานให้ชื่อว่า เอราวัณ เชือกหนึ่งพระพรหมป็นผู้ประทานให้ชื่อว่า คีรีเมขล์ไตรดายุค และอีกเชือกหนึ่งพระวิษณุเป็นผู้ ประทานให้ชื่อว่า เอกทันต์ ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีพละกำลังมากที่สุดในหมู่ ช้างทั้ง 3 เชือก และเป็นที่โปรดปรานมากที่สุด ของพระอินทร์ เชื่อกันว่าช้างเชือกนี้เป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง เมื่อพระอินทร์ต้องการจะเสด็จ ไปไหนเอราวัณเทพบุตร ก็จะแปลงกายเป็นช้างเผือก ขนาดสูงกว่าภูเขาเอเวอร์เรสต์ มี 33 เศียร แต่ละเศียรมีงา 7 งา งาแต่ละงายาวถึง 4 ล้านวา



           
          งาแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ มี 7 เกสร แต่ละเกสรมีปราสาทอยู่ 7 หลัง ปราสาทแต่ละหลังมี 7 ชั้น แต่ละชั้นมี 7 ห้อง แต่ละห้องมี 7 บัลลังค์ แต่ละบัลลังค์มีเทพธิดาสถิต 7 องค์ เทพธิดาแต่ละองค์มีบริวาร องค์ละ 7 นาง เทพธิดาบริวารแต่ ละนางมีนางทาสีนางละ 7 ทาสี รวมทั้งนางเทพอัปสรทั้งหมดประ มาณ 190,248,433 นาง เทพธิดา บริวารรวมกันทั้งหมดประมาณ 13,331,669,031 นาง เศียรทั้ง 33 ของช้างเอราวัณมีอุเปนทเทพยดา สถิตเศียรละ 1 องค์ โดยปกติศิลปินไทยมักจะทำช้าง เอราวัณ เป็นช้าง 3 เศียร




อ้างอิง : http://th.wikipedia.org

มังกรจีน


มังกรจีน


มังกรจีน (อักษรจีนตัวเต็ม: 龍; อักษรจีนตัวย่อ: 龙; พินอิน: lóng; ฮกเกี้ยน:เล้ง) เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอันหนึ่งของจักรพรรดิและวัฒนธรรมจีน มีลักษณะที่มาจากสัตว์หลาย ๆ ชนิดผสมผสานกัน ลักษณะลำตัวยาวเหมือนงู มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่บริเวณขากรรไกรด้านบน มีหนวดยาวลักษณะเหมือนกับไม้เลื้อย และมีแผงคอเหมือนกับของสิงโตอยู่บน คอ , คาง และข้อศอก มีเกล็ดสีเขียวเข้มทั่วทั้งบริเวณลำตัวรวมทั้งสิ้น 117 เกล็ด ซึ่งเกล็ดมังกรจำนวน 81 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยางซึ่งเป็นเกล็ดที่มีความดี เกล็ดมังกรจำนวน 36 แผ่น มีคุณสมบัติเป็นหยินซึ่งจะเป็นเกล็ดที่มีความชั่ว ลักษณะเขาของมังกรจะมีสันหลังทอดยาวไปตามหลังและหาง เป็นหนามยาวและสั้นสลับกัน มีขา 4 ขาและกรงเล็บแข็งแรง
เกล็ดของมังกรจีนนั้น จะมีลักษณะเฉพาะเปลี่ยนไปตามแต่ละชนิดของมังกร ตั้งแต่สีเขียวเข้มจนถึงสีทอง หรือบางแหล่งกล่าวกันว่า มังกรจีนนั้นมีหลายสี เช่น สีน้ำเงิน สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว หรือสีเหลือง แต่ในกรณีของมังกรชนิด chiao หลังของมังกรจะเป็นสีเขียว บริเวณด้านข้างเป็นสีเหลือง และใต้ท้องเป็นสีแดงเข้ม มังกรจีนชนิดหนึ่งจะมีปีกที่ด้านข้างของลำตัว และสามารถที่จะเดินบนน้ำได้ แต่สำหรับมังกรจีนอีกชนิดหนึ่งเมื่อสะบัดแผงคอไปข้างหน้าและข้างหลัง จะทำให้เกิดเสียงที่ฟังดูเหมือนกับเสียงขลุ่ย
มังกรจีนจะมีโหนกอยู่บนหัวซึ่งทำให้สามารถบินได้ เรียกโหนกที่อยู่บนหัวว่า ch’ih muh แต่ถ้ามังกรจีนตัวใดไม่มีโหนกที่บริเวณหัว จะกำคทาเล็ก ๆ ที่เรียกว่า po-shan ซึ่งสามารถทำให้มังกรลอยตัวในอากาศได้(ปัจจุบัน ประเทศทางตะวันตก ก็เพิ่งเจอ วัตถุลึกลับบางอย่างสามารถลอยในอากาศได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ) ในประเทศจีนคนโบราณมีความเชื่อกันว่ามังกรคือสัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน ได้รับการกล่าวกันว่ามีความเป็นมิตร มากกว่าความร้ายกาจ เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุข และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง พบได้ใน แม่น้ำและทะเลสาบ ชอบที่จะอยู่ท่ามกลางสายฝน มังกรได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างกฎแห่งความใจบุญ และเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นให้แก่กษัตริย์ในราชวงศ์ชิง กษัตริย์จะนั่งบนบัลลังก์มังกร เดินทางโดยเรือมังกร เสวยอาหารบนโต๊ะมังกร และบรรทมบนเตียงมังกร

ตำนานมังกรจีนโบราณ


ตำนานมังกรจีนโบราณมีอายุยาวนานกว่า 4,000 ปี ซึ่งลักษณะรูปร่างของมังกรจีนนั้น สุดแล้วแต่นักวาดรูปจะจินตนาการเสริมแต่งออกมา การขายจินตนาการของนักวาดรูปจะเขียนมังกรออกมาโดยยึดลักษณะรูปแบบที่เล่าต่อ ๆ กันมาคือ มังกรจีนจะมีลักษณะลำตัวที่ยาวเหมือนงู มีเกล็ดสีเขียว นัยน์ตาสีแดง มีหนวดและเขาอย่างละคู่ มีขา 4 ขาและกงเล็บที่แข็งแรง มังกรจีนโบราณถูกยกย่องว่าเป็นสัตว์เทพเจ้าซึ่งชาวจีนเคารพนับถือ เป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าในลัทธิเต๋า ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองปราสาทราชวังของเทพเจ้าบนสวรรค์ มังกรจีนที่มีกงเล็บ 5 เล็บ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิหรือฮ่องเต้ของจีนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ มังกรบางตัวจะถือไข่มุกเม็ดใหญ่อยู่ที่ขาหน้า ครั้งหนึ่งคนเคยคิดว่าไข่มุกคือไข่ของมังกร มังกรบางชนิดวางไข่ในน้ำไหล
มังกรจีนในตำนานนั้น สามารถที่จะทำตัวเองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับจักรวาล คนเปอร์เซียโบราณก็เชื่อเช่นนี้ หรือมีขนาดเล็กเท่ากับหนอนไหมได้ แต่เวลา สู้กับหงอคง ก็ควรจะแปลงร่างให้เล็กแล้วเข้าไปกัดลำไส้หงอคง หรือแปลงร่างเพื่อเขมือบหงอคงให้เป็นวุ้น และในบรรดาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ของจีน มังกรจีนถือเป็นสัตว์แห่งเทพเจ้า ได้รับความนับถือมากที่สุด มังกรจีนมีลักษณะนิสัยที่เมตตากรุณา เป็นมิตร ทะเยอทะยาน และมองโลกในแง่ดี นอกจากนี้ยังมีความฉลาด มีปัญญามาก มีความเด็ดขาด และมีพลัง มังกรจีนจึงเป็นที่ปรึกษาของผู้นำในด้านต่าง ๆ แต่มังกรจีนมีทิฐิในตัว จะถือตัวว่าถูกหมิ่นประมาทเมื่อผู้นำไม่ยอมทำตามคำแนะนำของมังกรจีน หรือเมื่อผู้คนไม่ให้เคารพความสำคัญ มังกรจีนจะทำให้ฝนหยุดตก หรือเป่าเมฆดำออกมาซึ่งจะนำพาพายุ และน้ำท่วมมาให้ ถ้าไปเป่าเมฆสีทองของหงอคงก็จะทำให้เมฆเปลื่ยนเป็นสีดำ และกลายเป็นฝน หงอคงก็จะเหินหาวไม่ได้ มังกรตัวเล็กก็ทำเรื่องยุ่งยากเล็ก ๆ เช่นทำหลังคารั่ว หรือทำให้ข้าวเกิดความเหนอะหนะ
มังกรจริง ๆ ในปัจจุบันก็คือซากของไดโนเสาร์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งกลายเป็นหิน ไข่ไดโนเสาร์ถูกค้นพบในหลายพื้นที่ในประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีไดโนเสาร์มากที่สุดในโลกในสมัยโบราณใช้ในการประกอบเป็นยาสมุนไพร เรียกกันว่า "ยากระดูกมังกร" ส่วนไข่ของมังกรจีนนั้นในสมัยเฉียนหลง ถือเอาไข่มังกรจีนเป็นเครื่องรางประจำราชสำนักภายในพระราชวังปักกิ่ง แต่ต่อมาเมื่อพระราชวังปักกิ่งแตก ไข่มังกรจีนก็ตกทอดมาจากประเทศจีนมาอยู่ที่ประเทศไทย
ซึ่งไข่มังกรที่ตกทอดมาอยู่ภายในประเทศไทยนั้น มีตำนานเล่าขานกันมาแต่โบราณว่า เมื่อคณะทูตหรือคณะผู้แทนจากประเทศจีนใช้เรือไฮจี่โดยการนำของ ยังชีขี มีผู้ติดตามมาด้วยจำนวน 449 คน มีทหารประจำเรือ 279 คน เพื่อขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เมื่อเวลาบ่ายโมงของวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 โดยมีพระยาบริบูรณโกษากรเข้าเฝ้าฯ และมอบหมายให้พระยาบริบูรณโกษากร หรือ ฮวด โชติกะพุกกณะ หรือเจ้าคุณกิมจึ๋ง เป็นผู้จัดการประสานงาน และเลี้ยงต้อนรับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ตามลักษณะของไข่มังกรที่สืบทอดกันมาเป็นตำนานนั้น มีลักษณะคล้ายกับลูกแก้วหินผลึกคล้ายคลึงกับลูกแก้วของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดของประเทศไทยแต่ถูกตกแต่งด้วยการเลี่ยมและห่อหุ้มคล้ายกับห่อด้วยแก้วนั่นเอง ทำให้เรื่องของไข่มังกรจีนกลายเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันพอสมควรในสมัยนั้น

อ้างอิง : http://th.wikipedia.org